สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 337  ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
ถ้าความผิดฐานกรรโชกได้กระทำโดย
(๑) ขู่ว่าจะฆ่า ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายให้ผู้ถูกข่มขืนใจ หรือผู้อื่นให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือขู่ว่าจะทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น หรือ
(๒) มีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2273/2556

ผู้เสียหายที่ 2 ที่ถูกหน่วงเหนี่ยว ขวางทาง ฉุดรั้งและข่มขืนใจโดยถูกประทุษร้ายเพื่อให้ยอมไม่เข้าร่วมเสนอราคาไม่ได้ยอมตามที่ถูกกระทำดังกล่าว กลับได้เข้าไปยื่นซองเสนอราคาและร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง จนการจัดประกวดราคาในวันดังกล่าวถูกยกเลิก การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงเป็นเพียงการพยายามกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 6 และ ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก

เจตนาในการตั้งกลุ่มกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ซ่องโจรของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ก็เพื่อกระทำความผิดฐานต่าง ๆ ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ จึงเป็นเจตนาเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงต้องลงโทษในความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตาม ป.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 209 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22746/2555

จำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่วินรถจักรยานยนต์พูดว่า หากใครไม่จ่ายไม่ให้จอด ระวังจะจำเบอร์ไม่ได้ จำซอยไม่ได้ ขับเงียบ ๆ ใกล้จะหมดเวลาของพวกมึงแล้ว มีลักษณะเป็นการข่มขู่ผู้เสียหายทั้งสามว่าอาจถูกทำร้าย หลังจากมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้วแต่ไม่มีการควบคุมตัวจำเลยในระหว่างดำเนินคดี ผู้เสียหายทั้งสามเกรงจะได้รับอันตรายและถูกห้ามขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในซอยเกิดเหตุจึงต้องจำยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยวันละ 15 บาท ตามที่จำเลยเรียกร้อง แต่ข้อเท็จจริงที่ผู้เสียหายทั้งสามจำยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยวันละ 15 บาท ภายหลังมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้วนั้น ปรากฏแต่ในทางพิจารณาโดยโจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในฟ้อง ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ จึงต้องห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยโดยอาศัยข้อเท็จจริงนั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยได้แต่ในความผิดฐานพยายามกรรโชกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80 เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11466/2554

จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งหกและขู่ผู้เสียหายทั้งหกจนผู้เสียหายทั้งหกหาเงินมาให้จำเลยคนละ 1,000 บาท แม้จำเลยจะปักใจเชื่อโดยสุจริตว่า ผู้เสียหายทั้งหกลักเงินจำเลยไป จำเลยก็ชอบที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายโดยไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายทั้งหกได้ในทันที จำเลยหามีสิทธิตามกฎหมายที่จะดำเนินการได้ด้วยตนเองไม่ ทั้งวิธีการที่จำเลยทำเป็นสิ่งที่ผิดต่อกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายและกรรโชกอันเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร